ผู้เขียน หัวข้อ: 7 วิธีที่ทำให้ลูกเลิกทะเลาะกัน แล้วกลับรักกันมากขึ้น  (อ่าน 662 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

admin

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2591
  • คนดีไม่เบ่ง คนเก่งไม่โม้ คนใหญ่โตไม่อวด
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล์
7 วิธีที่ทำให้ลูกเลิกทะเลาะกัน แล้วกลับรักกันมากขึ้น

7 วิธีที่ทำให้ลูกเลิกทะเลาะกัน แล้วกลับรักกันมากขึ้น

เบื่อไหมที่ลูกชอบมาทะเลาะกัน ตีกันอยู่บ่อยๆ บอกเท่าไหร่ก็เหมือนเดิม แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือเปล่าว่าสาเหตุที่ลูกชอบทะเลาะกันอาจมาจากตัวคุณ ซึ่งถ้าไม่รีบปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ จะเริ่มสะสมและรุกรามกลายเป็นการเกลียดชังในที่สุด ก่อนที่ไปถึงขั้นนั้น พ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูลูกด้วย 7 วิธีที่ทำให้ลูกเลิกทะเลาะกัน

 

1. อย่าเลี้ยงลูกเหมือนกัน

คนแต่ล่ะคนมักจะมีนิสัยที่ต่างกัน แม้กระทั่งฝาแฝดนิสัย ความชอบยังไม่เหมือนกันเลย การเลี้ยงดู การสั่งสอนของพ่อแม่จะใช้เหมือนกันคงไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับอุปนิสัยของลูกแต่ล่ะคน รวมถึงสิ่งของต่างๆ ควรเลือกซื้อที่ลูกชอบเหมือนๆ กัน ถ้าเลือกซื้อเพียงเพราะลูกคนใดคนหนึ่งชอบ อาจทำให้เด็กเกิดความน้อยใจได้

 

2. อย่าสนใจแต่ลูกคนเล็ก

พ่อแม่ควรปลูกฝังให้คนเป็นพี่ได้สร้างความรู้สึกดีกับน้องตั้งแต่ที่น้องอยู่ในท้องแม่ ได้พูดคุย ได้สัมผัส หรืออาจจะให้มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อน้องด้วย เมื่อคุณแม่คลอดน้องมาก็อย่าละเลยไม่สนใจลูกคนโต ควรแบ่งเวลามาดูแลเขาบ้าง รวมถึงต้องพูดคุยให้ลูกได้เข้าใจ และอธิบายว่าเมื่อตอนที่ลูกเล็กก็ได้รับความรัก ความสนใจจากคนรอบข้างมากมายขนาดไหน อาจจะมีรูปภาพมาให้ดูเพื่อเป็นการยืนยันด้วย

 

3. อย่าเปรียบเทียบ

การเปรียบเทียบว่าลูกคนนี้เรียนเก่งกว่า สวยหรือหล่อกว่า น่ารักกว่า ขาวกว่า พ่อแม่ควรหยุด เพราะจะทำให้ลูกคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองจะด้อยกว่า ทำให้เด็กเกิดความอิจฉาและอยากที่จะแข่งขันเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง บางครั้งเมื่อลูกได้ยินเรื่องเดิมบ่อยๆ เข้า ตัวเด็กจะยิ่งรู้สึกแย่และเกิดการต่อต้านไม่เชื่อฟังพ่อแม่ในที่สุด

 

4. อย่าดุด่าลูก เพียงเพราะอารมณ์

เวลาที่พี่น้องทะเลาะ พ่อแม่อย่าต่อว่าโดยทันที ไม่ควรฟังความข้างเดียว แต่ควรรับฟังทั้งสองคน ค้นหาต้นตอถึงสาเหตุที่ทำให้ทั้งคู่ทะเลาะกัน แล้วพยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน รู้จักเสียสละ อดทน การใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และค่อยๆ สอนลูกอย่างใจเย็น อย่าไปตะหวาดลูก หรือใช้น้ำเสียงที่ดูโมโห เพราะอาจจะทำให้ลูกหยุดทะเลาะกันชั่วคราวเท่านั้น ไม่นานก็กลับมาทะเลาะกันเรื่องเดิมอีก

 

5. อย่าปล่อยให้ลูกหิว

อันนี้ไม่ใช่เฉพาะเด็กที่เป็น บางทีผู้ใหญ่บางคนก็มักจะอารมณืเสีย หงุดหงิดเวลาหิวเหมือนกัน สำหรับเด็กแล้วเมื่อเขาเริ่มหิว คำพูดหรือการกระทำของคนพี่หรือคนน้องอาจดูขวางหูขวางตาไปซะหมด บางทีเล่นๆ กันอยู่ดีๆ ก็ทะเลาะกันขึ้นมาเฉยๆ ทะเลาะกันในเรื่องไม่เป็นเรื่องบ้างล่ะ ดังนั้น ถ้าได้เวลาทานอาหารแล้ว พ่อแม่เริ่มได้ยินเสียงลูกโวยวายมีแววว่าจะตีกัน ควรรีบเรียกลูกไปกินข้าวน่ะ

 

 

6. อย่าลำเอียง

พ่อแม่มักจะบอกว่ารักลูกเท่ากัน แต่ลึกๆ แล้วอาจไม่เท่ากันก็ได้ เพราะบางคนเห็นว่าลูกคนนี้เป็นน้องอายุน้อยกว่าต้องโอ๋เวลาที่ทะเลาะกับพี่ ถึงแม้คนเป็นน้องจะผิดก็ตาม ซึ่งการที่พ่อแม่ทำแบบนี้จะทำให้คนเป็นพี่คิดว่าลำเอียง ไม่มีความยุติธรรม ดังนั้น พ่อแม่ควรทำโทษลูกโดยใช้มาตรฐานเดียวกันเวลาทำผิด แต่เมื่อลูกเป็นเด็กดีควรได้รับคำชมเชยเช่นเดียวกัน

 

7. อย่าบอกว่าให้พี่ต้องเสียสละให้น้อง

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปันสิ่งของร่วมกัน กินด้วยกัน เล่นด้วยกัน ผลัดกันเล่น อย่าเห็นว่าคนพี่กำลังเล่นของเล่นอยู่แล้วพ่อแม่บังคับให้เสียสละของเล่นให้น้อง ควรให้สิทธิ์เจ้าของได้ตัดสินใจเองว่าจะแบ่งหรือไม่ หากลูกมีการแบ่งของเล่นกัน พ่อแม่ควรชมลูกทันทีที่เห็น และต้องชมทุกครั้งที่ลุกเล่นด้วยกันอย่างสงบ ไม่ทะเลาะกัน

 

เมื่อลูกทะเลาะกัน พ่อแม่ต้องปลูกฝังให้ลูกรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน รู้จักกล่าวขอโทษเมื่อทำผิด แต่ถ้าเด็กยังทะเลาะกันไม่หยุด ควรจับทั้งคู่แยกออกจากกัน ให้พวกเขาทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ เพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะกันอีกครั้ง