ลูกสาวผม ป.1 ครับ ได้เกรด 3.37 ไม่แย่เลยใช่มั้ยครับ แต่เชื่อมั้ยว่าได้ที่ 29 จาก 35 คนในห้องแหนะ เพราะดันไปอยู่ห้องคิง
สิ่งที่คุยกับลูก คือ
1. เรียนแล้วสนุกมั้ยลูก ถ้าไม่สนุก เรามาหาวิธีที่จะให้สนุกกันดีกว่า
2. เรียนแล้วเข้าใจมั้ยลูก ถ้าต้องไหนไม่เข้าใจ มาถามพ่อได้นะ พ่ออธิบายได้
3. ไปโรงเรียนมีเล่นกับเพื่อนๆสนุกมั้ย เพื่อเช็คการเข้าสังคมลูก
ส่วนเรื่องเกรดกับลำดับ ผมไม่ได้โฟกัสเลย เน้นดูลูกเป็นหลัก ลูกอ่านออก เขียนได้ มีความสุข กลับมายังมีรอยยิ้ม ผมก็โอเคแล้ว
สำหรับคำแนะนำที่จะบอกลูก ก่อนอื่น ผู้ปกครองควรเลิกยัดเยียดความอยากให้ลูกเรียนเก่งออกจากลูกก่อน แล้วแนะนำใหม่ ให้เรียนอย่างตั้งใจ เรียนและเล่นให้สนุกอย่างมีความสุข แล้วผลลัพธ์เป็นยังไงเราก็ภูมิใจกับมัน
วิธีปฏิบัติเมื่อผลการสอบของลูกรักไม่ดี
หากผลสอบของลูกออกมาไม่ดี แต่การจะเกรี้ยวกราดเอากับลูกคงไม่ใช่วิธีที่เป็นประโยชน์นัก เมื่อเราเองก็เคยผ่านวัยเรียนมา และรู้ดีว่าเรื่องเรียนไม่ได้ง่ายสำหรับทุกคน ในห้อง ๆ หนึ่งมีทั้งเด็กได้คะแนนดี เด็กได้คะแนนต่ำ
อย่างไรก็ดี การที่ผลสอบของลูกรักไม่ค่อยดีนั้นก็อาจหมายถึงสัญญาณขอความช่วยเหลือทางการเรียนดังขึ้นแล้ว ซึ่งการจะแก้ไข อาจเริ่มได้ดังนี้
1. ใจเย็นไว้ก่อน
แม้จะตกใจ หรือไม่พอใจกับผลคะแนนของลูกน้อย แต่คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นไว้ สงบสติอารมณ์ก่อน เรายังบอกลูกน้อยได้ว่าผิดหวัง หรือไม่ถูกใจกับผลการเรียนของเขา แต่ไม่ควรแสดงอารมณ์ไม่พอใจออกไป เพราะผลการเรียนไม่ดีอาจยังแก้ไขได้ และยังไม่กระทบกับชีวิตในอนาคตของลูกมากนัก แต่การแสดงอารมณ์กับลูกของพ่อแม่นั้น กระทบกับความมั่นใจในชีวิตเขาไปทั้งชีวิต และเมื่อพร้อมจะคุยกับลูก ต้องรับฟังสิ่งที่ลูกพูด อธิบาย อย่างใจเย็น ไม่ใช่การซัก หรือคาดคั้นให้ลูกรู้สึกอึดอัดใจ หรือรู้สึกผิด ควรให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกสบายใจที่จะเล่าให้ฟัง และรู้สึกว่าพ่อแม่รับฟังความคิดเขา พยายามช่วยเขาแก้ปัญหา แต่พึงระวังว่าอย่าขัดยามเขาพูด ที่สำคัญควรลองให้เขาพูดออกมาเองว่าคิดจะแก้ปัญหานี้อย่างไร โดยไม่กดดัน เพื่อให้เขาหัดคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และข้อห้ามสำคัญคือห้ามเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นๆ เด็ดขาด
2. ค้นหาความจริง
เมื่อไต่สวน เอ้ย เปิดอกคุยกันแล้ว คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มได้ความจริงบางส่วน ซึ่งก็ควรขยายผลต่อด้วยการค้นหาความจริงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สอบถามว่าลูกเข้าใจบทเรียนหรือไม่ ไม่ชอบวิชาที่เรียนหรือเปล่า หรือเพียงแต่ไม่ขยันท่องหนังสือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทราบปัญหาที่แท้จริงแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาให้เจ้าตัวน้อยได้อย่างถูกจุด อาทิ หากลูกไม่เข้าใจเลขฐานสาม อาจทำการ์ดตัวเลขเล่นกัน ให้ลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุก หรือหากลูกไม่สนใจท่องหนังสือเพราะไม่ชอบวิชาดังกล่าว อาจต้องช่วยกวดขันท่องหนังสือ ที่สำคัญคือควรรีบแก้ไข อย่าปล่อยให้ปัญหาเรื้อรัง เพราะหากลูกไม่เข้าใจในวิชานั้นๆ สะสมไปเรื่อยๆ อาจมีโอกาสทำให้กลายเป็นยาขม ไม่ชอบเรียนวิชาดังกล่าวไปเลยก็ได้
3. ไม่ใช้วิธีขู่
ไม่ควรใช้วิธีขู่ ไม่ว่าจะบอกว่าจะไม่รัก จะให้งดของโปรด หรือถึงขั้นจะลงไม้ลงมือกัน เพราะจะยิ่งทำให้ลูกต่อต้าน เห็นวิชาที่ทำได้ไม่ดีเป็นวิชาที่ไม่ชอบ แต่ควรพยายามช่วยให้ลูกกลับมารู้สึกสนุก ท้าทายที่จะเรียนให้รู้เรื่องมากขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่เองต้องพยายามช่วยเหลือลูกด้วย ให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่ถามด้วยความห่วงใย ไม่ใช่เห็นเขาเป็นปัญหา รวมทั้งไม่ได้โกรธเขา เพื่อให้ลูกน้อยมีกำลังใจที่จะเรียนให้ดีขึ้น
4. คุยกับคุณครู
ควรคุยให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการโทร.ไปสอบถามหรือไปถามกันถึงตัว เพื่อให้ทราบความคิดของคุณครูว่าเกิดอะไรขึ้น และช่วยกันดูแลเจ้าตัวน้อยได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน อีกทั้งยังจะช่วยให้ได้รับความเห็นจากคุณครูด้วยว่าความคิดของคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือในเรื่องเรียนของเจ้าตัวน้อยเข้าท่าหรือไม่ นอกจากนี้ ความเอาใจใส่ของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยทำให้คุณครูกระตือรือร้นที่จะดูแลเจ้าตัวน้อยของคุณให้ดีด้วย
ที่มา
http://www.manager.co.th/