เมื่อทะเลาะกับคนในครอบครัวอย่าง
พ่อและแม่ ลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร?
เราต่างเชื่อว่า สายใยของคนในครอบครัว เป็นความสัมพันธ์แสนพิเศษไม่เหมือนกับความสัมพันธ์รูปแบบอื่น เช่น คู่รัก เพราะครอบครัวคือคนที่มีสายเลือดเดียวกัน ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่ปัจจุบันมีหลายครอบครัวที่เกิดปัญหาในเรื่องของความสัมพันธ์ หนึ่งในปัญหาหนักใจใครหลายคนอยู่นั่นก็คือ ลูกทะเลาะกับพ่อแม่ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่โตบานปลายไปจนถึงขั้นตัดขาดกันเลยก็เป็นได้ หากไม่รู้วิธีแก้ปัญหาหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้ทะเลาะ บางคนอาจถูกพ่อแม่มองว่าเป็นลูกอกตัญญูเพียงเพราะทะเลาะกัน ทั้งที่จริงแล้วนั้นการทะเลาะแต่ละครั้งนั้นมันมีเหตุผลและที่มาที่ไปของเรื่องราวอยู่เสมอ
เราจะพาไปหาคำตอบถึงสาเหตุของคนส่วนใหญ่ที่ทะเลาะกับพ่อแม่และวิธีแก้ไขปัญหาเมื่อคุณต้องเผชิญกับสถานะของลูกที่ทะเลาะกับพ่อแม่พร้อมๆ กัน
สาเหตุที่ลูกทะเลาะกับพ่อแม่ตัวเอง
จุดเริ่มต้นของการทะเลาะกันในครอบครัวนั้นล้วนมีเหตุผลอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม อาจเกิดมาจากเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่
1.โดนบังคับหรือตีกรอบมากเกินไป
ในครอบครัวที่ผู้เป็นลูกถูกคาดหวังจากพ่อแม่มากเกินไป ถูกตีกรอบให้อยู่ในขอบเขต บังคับทุกอย่างให้เป็นไปตามสิ่งที่วางไว้ แรกๆ ลูกอาจยอมทำเพราะรัก แต่สะสมไปนานเข้าจะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด กดดันตัวเอง และพอถึงขีดสุดของความอดทนจะทำให้เขาระเบิดออกมา โดยไม่สนใจอะไรหรือใครแม้แต่พ่อแม่ตัวเอง
2.ความคิดของลูกสวนทางกับพ่อแม่
เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ลูกมีความคิดเป็นของตัวเอง และบังเอิญความคิดนั้นกลับสวนทางกับพ่อแม่ แน่นอนว่าต้องมีการโต้เถียงกัน หากครอบครัวไหนที่พ่อแม่ไม่ยอมเข้าใจถึงวัยของลูกจนทำให้ครอบครัวเกิดทะเลาะกันใหญ่โตและหันหลังหนีใส่กันก็ได้
3.ความเป็นส่วนตัวที่พ่อแม่ไม่ยอมเข้าใจ
ในช่วงที่ลูกเป็นวัยรุ่นพ่อแม่ต้องเข้าใจว่าในวัยนี้ ลูกต้องการความเป็นส่วนตัว จนบางคนอาจจะสร้างอาณาเขตของตัวเอง และไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่เข้ามาวุ่นวาย เมื่อลูกไม่ยอมและพ่อแม่ก็ไม่ยอมเข้าใจเช่นกันอาจทำให้มีปากเสียงกันได้ง่าย
4.การโดนทำร้ายจากพ่อแม่ทั้งทางกายและทางใจ
บางครอบครัวที่ลูกถูกทำร้ายจากพ่อแม่ทั้งทางกายและใจ เช่น ทุบตี ใช้กำลัง ชอบพูดจาประชดประชันลูก พูดจาจิกกัดทุกทางที่ทำได้ นั่นก็เป็นเหตุผลที่จะทำให้เกิดการทะเลาะกันหนักได้
5.เมื่อลูกหรือพ่อแม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง
เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคิดว่าตัวเองถูกอยู่เสมอ โดยไม่สนใจความรู้สึกของอีกฝ่ายเลย นี่คือการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย หากไม่มีใครยอมใคร ไม่ปรับความเข้าใจกันก็อาจเกิดการทะเลาะกันถึงขั้นรุนแรงและตัดขาดกันไปเลยก็มี
แก้ไขหรือหลีกเลี่ยงอย่างไร
เมื่อทะเลาะกับพ่อแม่?
หยุดคิดว่าใครผิดใครถูก
ในระหว่างที่ทะเลาะกันอย่ารีบคิดหรือตัดสินว่าใครผิดใครถูก และอย่าพึ่งโทษตัวเองว่าฉันนี่แหละคือคนผิด ฉันเป็นคนไม่ดี แล้วปล่อยปัญหาทิ้งไว้โดยไม่แก้ไข บรรยากาศที่น่าอึดอัดนี้ก็จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ ถ้าต่างฝ่ายต่างเย็นลงแล้วก็ลองไปคุยกับท่านด้วยเหตุผลอาจจะทำให้พ่อแม่เข้าใจมากกว่าการไปบอกว่าท่านผิดหรือถูก
ยกเรื่องกตัญญู และอกตัญญูออกไปก่อน
การทะเลาะไม่ใช่การทำสิ่งไม่ดีกับพ่อแม่ ไม่ใช่ความดีความชั่วหรือเรื่องกตัญญู ดังนั้นให้ยกเรื่องนี้ออกไปก่อน แล้วกลับมามองปัญหาว่าการทะเลาะครั้งนี้เกิดขึ้นจากอะไร
เปลี่ยนมุมมองแล้วคิดทบทวน
ลูกหรือพ่อแม่ลองเปลี่ยนมุมมอง มองในมุมของอีกฝ่ายว่าถ้าหากเราเป็นเขา แล้วเขาเป็นเราที่ทำแบบนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร อาจทำให้เข้าใจกันมากขึ้นว่าเจตนาของพ่อแม่ก็คือหวังดีกับเราเพียงเท่านั้น แต่บางครั้งท่านอาจจะไม่ค่อยแสดงออก
ระวังเรื่องคำพูด
เมื่อทะเลาะกัน คนเป็นลูกควรระวังคำพูดของตัวเองให้ดีก่อนจะพูดอะไรออกไป หรือตัวพ่อแม่เองก็ควรจะระวังคำพูดของตัวเองเช่นกัน คำพูดแรงๆ กระแทกแดกดันที่พูดไปด้วยอารมณ์ อาจสร้างบาดแผลในใจให้กับผู้ฟังได้โดยที่คนพูดไม่ตั้งใจ
ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
หากลองทำทุกวิถีทางแล้วไม่ดีขึ้นเลย เมื่อลูกยังรู้สึกแย่กับพ่อแม่ หรือพ่อแม่ก็ยังรู้สึกไม่ดีกับลูกอยู่ อาจจะมีบางเรื่องที่เรายังค้างคาใจกันอยู่ทั้งที่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แบบนี้ควรไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเลยจะดีกว่า ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นปัญหาครอบครัวเรื้อรังจนยากจะแก้ไข
ไม่ว่าจะทะเลาะกันหนักหนาแค่ไหน สุดท้ายแล้วท่านก็จะพ่อแม่ของเรา คือคนในครอบครัว เมื่อมีปัญหาก็ควรหาทางแก้ไขเพื่อให้ปัญหาไม่ยืดเยื้อหรือค้างคานานจะดีที่สุด