ผู้เขียน หัวข้อ: ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน ไม่สนใจการเรียน ไม่รับผิดชอบตัวเอง ไม่ทำงานที่ครูให้ทำ  (อ่าน 478 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

admin

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2590
  • คนดีไม่เบ่ง คนเก่งไม่โม้ คนใหญ่โตไม่อวด
    • ดูรายละเอียด
    • อีเมล์

ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียน ไม่สนใจการเรียน ไม่รับผิดชอบตัวเอง ไม่ทำงานที่ครูให้ทำ ทำไม่เสร็จ จดงานหรือจดการบ้านไม่เสร็จ ลืมสมุดการบ้าน ทำหนังสือหาย ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ ส่งผลเสียถึงอนาคตของลูก หากไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง


ปัญหาลูกไม่สนใจเรียนมีความสำคัญอย่างไร?
ปัญหาลูกไม่สนใจการเรียน อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาพฤติกรรม เช่น ไม่ยอมไปโรงเรียน หนีเรียน ขาดเรียนบ่อย รวมไปถึงปัญหาด้านอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า และ วิตกกังวล นำไปสู่ปัญหาทางการเรียนรู้ และ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ กลายเป็นวงจรของปัญหาการเรียนรู้ของเด็ก เป็นสาเหตุต่อเนื่องไปถึง ปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรม อาจเริ่มจาก ผลการเรียนที่ไม่ดี ทำให้เด็กมีปมด้อย ขาดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจ ท้อแท้หมดกำลังใจ หาสิ่งชดเชย มีปัญหาพฤติกรรม และเอาดีทางอื่นทดแทน ซึ่งจิตแพทย์เด็กถือว่า ปัญหาเด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ หรือ เด็กเรียนอ่อน เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในทางสุขภาพจิต และจิตเวช ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดว่า เด็กเรียนอ่อนคือ เด็กขี้เกียจ ไม่ใส่ใจเรื่องการเรียน ไม่มีความพยายาม
 
ทั้งนี้ในความเป็นจริง ปัญหาการเรียนรู้ของเด็ก ไม่ใช่เกิดจากสาเหตุทางสติปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวช และ ปัจจัยอื่นๆ  ได้แก่
 
 
     √ สาเหตุปัญหาทางอารมณ์  ซึ่งจัดเป็นทั้งเหตุและผลจากผลการเรียนที่ไม่ดี ปัญหาทางอารมณ์ที่อาจเริ่มจากเรื่อง พ่อแม่ทะเลาะกัน ความยากจน
 
     √ ปัญหาโรคทางจิตเวช คือ  " สมาธิสั้น " และ " ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) "
 
     √ การขาดแรงจูงใจที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กเรียนอ่อน  เด็กที่ฉลาด ปัญญาดี แต่ผลการเรียนต่ำ ไม่สนใจการเรียน ไม่ทำการบ้าน ทำไม่เสร็จ ไม่ส่งงาน ทำงานไม่เรียบร้อย ไม่ชอบครู  ขาดความพยายามและความมุ่งมั่น ชอบผัดวันประกันพรุ่ง สนใจเรื่องอื่น และ สามารถเพิ่มความคิดเห็นที่บ่งว่าเป็นเด็กฉลาดหรือมีความสร้างสรรค์ เช่น ชอบเครื่องจักรกล ชอบวาดรูป ชอบประดิษฐ์ และ มักจะทำได้
 
ทั้งนี้สาเหตุของการขาดแรงจูงใจ มักเกิดจาก การเลี้ยงดูที่ขาดการฝึกฝนอบรมนิสัย เรื่องวินัยและการควบคุมตนเอง มักใช้วิธีหลีกเลี่ยง หาข้ออ้างแก้ตัวอยู่เสมอ แทนที่เด็กกลุ่มนี้ จะใช้ความฉลาดกับการเล่าเรียน  กลับใช้พลังงานไปในทางหาวิธีจัดการกับผู้ใหญ่รอบข้าง เพื่อให้ตนพ้นผิดและรู้สึกปลอดภัย
 
ในแง่มุมของการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาทางการเรียน เป็นสิ่งที่เด็กต้องการความช่วยเหลือมากไปกว่า การที่เด็กไม่พยายามหรือแกล้งทำ ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นตอนต่อไปในการจัดการศึกษาพิเศษในรูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละราย อิงตามหลักของการเรียนรู้ โดยสร้างแรงจูงใจ ทำได้ด้วยการให้เด็กมีความสุข กับการเรียนรู้
 
เนื่องจากเมื่อเด็กมีความสุขในการเรียน จะมองตนและสิ่งรอบข้างในแง่ดี  มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน ตลอดจนสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนและครูได้
 
      > การสอนต้องเริ่มสอนจากสิ่งที่ง่ายที่สุด  โดยการเริ่มต้นในระดับที่ต่ำกว่าความสามารถของเด็กเล็กน้อย เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้และได้รับความรู้สึกของการประสบความสำเร็จในการเรียน ทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะเรียนในระดับที่ยากขึ้นต่อไป
      > ขณะเดียวกัน ต้องสอนจากสิ่งที่เด็กคุ้นเคยไปหาสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเด็กจะสามารถเข้าใจในบทเรียนได้ง่าย หากเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และ สิ่งที่เด็กสามารถมองเห็นภาพหรือจินตนาการได้ง่าย หลังจากนั้น จึงเชื่อมโยงไปยังสิ่งที่ยากขึ้น หรือ สิ่งที่เด็กไม่คุ้นเคย
      > รวมไปถึง การเปิดโอกาส  ให้โอกาสเด็กได้เลือกเรียน หรือ เลือกกิจกรรมที่สนใจ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กรู้สึกสนใจและเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น  การให้เด็กมีประสบการณ์ตรง โดยให้โอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ๆ ในเรื่องนั้น ๆ จะช่วยให้เด็กได้เข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น และ เป็นการส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเอง
 
“ การส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ตามขีดความสามารถของตน โดยการเรียนการสอนต้องจัดให้สอดคล้องกับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก ส่งเสริมให้ได้แสดงความสามารถพิเศษ ยอมรับในจุดด้อยและเปิดโอกาสให้เด็กมีโอกาสแสดงความเป็นผู้นำและผู้ตาม เพื่อพัฒนาความภาคภูมิใจและปฏิบัติในแต่ละบทบาทให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ล้วนแต่เป็นการช่วยเหลือทางการศึกษาโดยอิงหลักของการเรียนรู้ และ การสร้างแรงจูงใจให้เด็กที่มีปัญหาทางด้านการเรียนได้ "
 
ปัญหาลูกไม่สนใจเรียนมีสาเหตุและวิธีการแก้ไขอย่างไร?
 
ปัญหาลูกไม่สนใจเรียนมีสาเหตุได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ สาเหตุภายในตัวเด็กทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และ สาเหตุทางสิ่งแวดล้อม ดังนี้
เด็กที่มีการเจริญเติบโตทางสมองช้า  เด็กกลุ่มนี้จะมีเชาว์ปัญญาต่ำ ซึ่งสังเกตได้ตั้งแต่เล็กๆ ว่ามีการยิ้ม ชันคอ คว่ำ นั่ง ยืน เดิน และ พูดช้ากว่าเด็กอื่น เมื่อเข้าสู่วัยเรียนเด็กอาจเรียนไม่ได้เลย เรียนไม่ทันเพื่อนหรือเรียนได้เฉพาะชั้นต้นๆ แต่จะมีความลำบากขึ้นจนเรียนต่อไปไม่ได้ในชั้นสูงๆ ขึ้นไป ซึ่งมีวิชาเรียนมากขึ้นและบทเรียนยากขึ้น

เด็กที่มีความผิดปกติทางสมองที่ทำให้มีขีดจำกัดในวิธีการเรียนรู้บางอย่าง เช่น มีความลำบากในการพูด การสะกดคำ การอ่าน การเขียน หรือ การคิดคำนวณ ทั้งๆ ที่มีระดับเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่จะมีผลการเรียนต่ำในด้านที่สัมพันธ์กับปัญหาดังกล่าว

เด็กปัญญาเลิศ คือ เด็กที่มีเชาว์ปัญญาสูงกว่าปกติมาก มีลักษณะฉลาดเกินวัย มีความคิดสร้างสรรค์ และ อาจมีความถนัดเป็นพิเศษทางด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ศิลปะ ดนตรี แต่ยังคงเป็นเด็กที่มีความต้องการอื่นๆ เหมือนเด็กทั่วๆไป  ปัญหาที่พบมักจะเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กกลุ่มนี้ และ ไม่สามารถเอื้ออำนวยต่อความต้องการ และความสามารถของเด็กได้อย่างเหมาะสม จึงพบปัญหาการปรับตัวได้ เช่น การแยกตัวจากกลุ่มเพื่อน เบื่อหน่ายการเรียนไม่ได้เรียนสิ่งที่ตนสนใจ หรือ คับข้องใจที่ได้รับการส่งเสริม แต่เพียงการใช้ความสามารถทางเชาว์ปัญญา แต่ขาดการตอบสนองทางอารมณ์ตามวัย

เด็กที่เป็นโรคซนและสมาธิสั้น  ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมองบางส่วน คาดว่าอาจเกิดจากสารเคมีในสมองบางส่วนไม่สมดุล เด็กจะมีอาการสำคัญคือ ซน อยู่ไม่นิ่ง ชอบวิ่ง ปีนป่าย กระโดด มีสมาธิสั้น เหม่อลอย วอกแวกง่าย หุนหัน วู่วาม ลำบากในการคุมตัวเอง
เด็กมีสุขภาพไม่แข็งแรง หรือ มีโรคประจำตัว  เช่น โรคหัวใจพิการ โรคไต โรคมะเร็ง หรือ มีโรคที่มีผลกระทบต่อสมอง เช่น โรคลมชัก ทำให้เด็กต้องขาดเรียนบ่อย ต้องหยุดพักรักษาตัวนาน ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อนได้

เด็กมีความผิดปกติทางสายตา การได้ยิน หรือ ความพิการ  ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเรียน

สาเหตุจากลักษณะเฉพาะของเด็ก เช่น เด็กมีลักษณะสมยอม ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ และ ปล่อยความรู้สึกเบื่อการเรียนให้เป็นไป โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นภายในอนาคต

สาเหตุด้านอารมณ์จิตใจ  มักจะมีความกังวล ครุ่นคิด แต่ปัญหาที่ไม่สบายใจ มักจะแสดงอาการ เหม่อลอย อ่อนเพลีย เป็นลม กลับมามีปัสสาวะรดที่นอนอีก หรือ หงุดหงิด  ก้าวร้าวเปลี่ยนไปจากเดิม  มีผลให้ความสนใจและสมาธิในการเรียนลดลง เรียนไม่ได้เต็มความสามารถ

ปัญหาภายในครอบครัว เช่น ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ พ่อแม่แยกกันอยู่ หย่าร้าง ทอดทิ้งเด็ก มีการทะเลาะ หรือ ใช้ความรุนแรง มีผลกระทบต่ออารมณ์ และ การเรียนรู้ของเด็กได้

การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม และความคาดหวังของผู้ใหญ่  เช่น การปล่อยปละละเลย ตามใจ หรือ บังคับเข้มงวด  ตลอดจนมีความคาดหวังในการเรียนของเด็กมากเกินไป  ล้วนก่อให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรม และ การเรียน

ปัญหาการเงิน  เช่น ครอบครัวที่ต้องการแรงงานจากเด็ก เพื่อช่วยหารายได้เข้าครอบครัว มักจะทำให้เด็กขาดโอกาสได้เรียนอย่างเหมาะสม หรือ ครอบครัวที่ประสบปัญหาการเงิน เช่น พ่อหรือแม่ตกงาน ย่อมทำให้เกิดความเครียดในครอบครัว และ อาจมีผลกระทบต่อโอกาสการเรียนของลูกได้

ปัญหาโรงเรียน  เช่น ระบบโรงเรียน มาตรฐานการเรียนการสอนไม่สอดคล้องกัน เช่น อนุบาลมีทั้งแบบเตรียมความพร้อม แบบกลางๆ และ แบบเร่งรัด หรือ ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนรัฐบาลกับเอกชนที่มีชื่อเสียง โรงเรียนในเมืองหลวงกับต่างจังหวัด ฯลฯ  ล้วนมีผลต่อวิธีการ บรรยากาศ และ โอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก หรือทัศนคติ และ ความคาดหวังของพ่อแม่มาก

ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครูและเพื่อน  จะพบว่าเด็กที่ขาดความสัมพันธ์อันดีกับครู มีการเปลี่ยนครูบ่อย เข้ากับเพื่อนไม่ได้  รังแกเพื่อน หรือ ถูกเพื่อนข่มขู่ รังแก  อาจมีผลกระทบต่อการเรียนได้
 เมื่อประสบกับปัญหาและทราบสาเหตุ ที่ส่งผลให้ลูกเกิดพฤติกรรมไม่สนใจการเรียนแล้ว ควรศึกษาและหาวิธีการแก้ไขปัญหาดังนี้

    √ เข้าใจและยอมรับในปัญหาที่เกิดขึ้น ลดการตำหนิติเตียนหรือดูถูก และ สนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสพูด หรือ เล่าปัญหาของตนเองบ้าง

    √ ถ้าพบว่าลูกเริ่มมีปัญหาด้านการเรียน ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์แต่เนิ่นๆ โดยอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงความห่วงใยและความจำเป็นในการมาพบแพทย์ เพื่อช่วยให้ลูกมีความสุขในการเรียนมากขึ้น

    √ พ่อแม่ควรช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัว พูดคุยกันด้วยเหตุผล และ เป็นตัวอย่างที่ดี ในเรื่องความรับผิดชอบ

    √ พ่อแม่ควรพยายามควบคุมอารมณ์ตนเอง และ ไม่ตำหนิ หรือ ลงโทษรุนแรงเมื่อเด็กทำผิด

    √ แบ่งหน้าที่การทำงานในบ้าน ควรให้เด็กได้ฝึกรับผิดชอบงานบ้านตามความเหมาะสม และ ชมเชยเมื่อเด็กทำได้ดี เช่น เก็บที่นอน ล้างจาน ควรมีการตกลงกันระหว่างเด็กและพ่อแม่ถึงเวลาในการทำการบ้าน เล่นอิสระ อาบน้ำ และ ควรเข้านอนไม่เกินกี่ทุ่ม ถือเป็นการฝึกวินัยเบื้องต้น จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ว่า พ่อแม่ต้องช่วยกัน เฝ้าติดตามผลและปฏิบัติกับลูกอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนลูกทำกิจกรรมต่างๆ จนเป็นนิสัย

     √ พ่อแม่ควรช่วยกันมองหาจุดเด่นหรือข้อดีในตัวลูก และคอยชื่นชมส่งเสริมให้ทำอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็ก เช่น นิสัยดีมีน้ำใจ เล่นกีฬาเก่ง วาดรูปเก่ง กล้าแสดงออก เป็นต้น ในเวลาเดียวกันหากลูกมีจุดอ่อนบางด้าน เช่น เรียนไม่เก่ง หรือ มีปัญหาด้านการปรับตัวกับเพื่อนๆ ควรเข้าใจยอมรับคอยให้กำลังใจและคอยช่วยเหลือ เช่น ทบทวนบทเรียน พูดคุยกับลูกบ่อยๆ หาครูที่เข้าใจสอนเสริมให้ ให้ลูกมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเสริมสร้างทักษะชีวิต

     √ มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี และ ช่วยให้พ่อแม่ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของลูก     

     √ พ่อแม่ควรยอมรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตามวัยของลูก  โดยเฉพาะเมื่อลูกเริ่มจะเข้าสู่วัยรุ่นที่ต้องการความเป็นอิสระ ต้องการความไว้วางใจจากพ่อแม่ ดังนั้น เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ควรรับฟังอธิบายจากลูกก่อน ที่จะปรักปรำ หรือลงโทษ จะช่วยให้เด็กรู้สึกดีกับพ่อแม่

     √ พ่อแม่และครู ควรช่วยเหลือและร่วมมือกันประคับประคองเด็กให้มีโอกาสเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ และ ยอมรับว่าเด็กแต่ละคน มีความสามารถและความถนัดแตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่ต้องเก่งเหมือนกัน

 

ป้องกันปัญหาลูกไม่สนใจเรียนได้อย่างไร?
 
 พ่อแม่ควรสนับสนุน หรือ ส่งเสริม ให้ลูกได้มีโอกาสอยู่ในสภาวะอยากรู้อยากเห็น ทดลอง อยากเรียนรู้ และ มีโอกาสทดลองทำสิ่งแปลกใหม่ในขอบเขตที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นตามวัย เนื่องจากธรรมชาติของวัยเด็ก เป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการความสามารถในด้านต่างๆ ในอัตราที่รวดเร็วอย่างยิ่ง การกระทำดังกล่าว จะมีส่วนช่วยให้เด็กสามารถพัฒนารากฐานของชีวิตที่ดี และ เจริญเติบโตขึ้นเป็นคนดีมีคุณภาพของสังคมได้  โดยพ่อแม่นับเป็นบุคคลสำคัญบุคคลแรก ที่มีส่วนช่วยเพาะบ่มอุปนิสัยใจคอที่รักการเรียน ให้เกิดขึ้นในลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ

พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างของการเรียน โดยเป็นแบบอย่างด้วยชีวิต ท่ามกลางบุคคลที่อยู่ล้อมรอบตัวลูก พ่อแม่นับเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดตัวเด็กมากที่สุด ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นตัวแปรหลัก ที่มีอิทธิพลต่อตัวเด็กมากที่สุดเช่นกัน พ่อแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกและเป็นอย่างต่อเนื่อง กระบวนการซึมซับรับเอาแบบอย่างจากบุคคล และ สิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ของเด็กนั้น มิใช่จะเกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงไม่กี่วันหรือสองสามสัปดาห์  ทว่าพ่อแม่จำเป็นต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการเรียนสิ่งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนเด็กได้เห็นและซึมซับเอาแบบอย่างดังกล่าว หล่อหลอมกล่อมเกลา เข้าเป็นอุปนิสัยของเด็กไปโดยไม่รู้ตัว

พ่อแม่ควรสร้างให้เด็กมีนิสัยใฝ่การเรียน โดยการให้มีส่วนร่วม ในช่วงเวลาแห่งการสร้างความสนใจในการเรียนให้เกิดขึ้นในเด็ก เป็นวัยที่เด็กมีความผูกพันใกล้ชิดกับพ่อแม่มากที่สุด พ่อแม่จึงควรฉวยโอกาสในการนำลูกให้เข้ามามีส่วนร่วมมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อสร้างความรัก ความอบอุ่นระหว่างกัน เช่น อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังก่อนนอน และ สอนหรือ แนะนำลูก

เพราะครูคนแรกของลูกก็คือพ่อแม่  และ บ้านหรือครอบครัว คือโรงเรียนแห่งแรกของลูก จึงควรเริ่มต้นสอนหรือฝึกหัดลูกให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบด้านได้ตั้งแต่เขายังเด็ก  ให้รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัว ตั้งคำถามเพราะคำถามจะเป็นการเปิดทางให้ลูกเรียนรู้ และ เล่าประสบการณ์ในชีวิตของพ่อแม่ โดยพ่อแม่แบ่งปันเรื่องราวในชีวิตที่น่าสนใจ ที่เหมาะสมกับแต่ละวัยของเด็ก ก็จะช่วยให้เด็กเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่น เล่าเรื่องตื่นเต้นผจญภัยสำหรับลูกชาย หรือ เล่าเรื่องราวเป็นลักษณะนิทานสำหรับลูกสาว รวมทั้งสอนให้ลูกสนใจใฝ่เรียนในทางที่ถูกต้องเหมาะสม  โดยคอยสอนหรือชี้แนะลูก เพื่อที่ลูกจะสามารถเข้าใจ และ แยกแยะได้ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด อะไรสมควรและไม่สมควรทำ

นอกจากนี้ควรมีการจัดสรรบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนแก่เด็ก ได้แก่ จัดให้มีห้องสมุด หรือ มุมหนอนหนังสือภายในบ้าน โดยมุมนี้อาจตกแต่งในสไตล์ของเด็ก เช่น นำภาพประกอบสวยๆ มีสีสันสดใส ติดไว้ที่ผนัง มีเทปเพลงสื่อการเรียนการสอน ที่อาจมีเกมแสนสนุกประเทืองปัญญา หรือ เครื่องดนตรีที่สามารถเล่นได้ง่าย และ จัดให้มีมุมสวนนอกบ้านด้วย
พ่อแม่ควรดูแลให้เด็กรักษาวินัยแห่งการเรียนอย่างสม่ำเสมอ มีคำกล่าวที่ว่า หากทำสิ่งใดต่อเนื่องกันเป็นเวลา 45 วัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นความเคยชิน และ เป็นอุปนิสัยของเราได้ในที่สุด จึงควรต้องดูแลรักษาให้คงอยู่ และ พัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป ซึ่งอาจกระทำได้โดย การสร้างวินัยแห่งการเรียนในตัวเด็ก เพื่อให้เด็กยังคงรักษาความต่อเนื่องในการเรียนรู้  มีกรอบ มีเป้าหมาย และ มีทิศทาง ซึ่งจะช่วยให้เวลาที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยในช่วงเวลานั้น เด็กก็ยังคงสามารถนำพาตนเองให้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆได้  แต่ในระยะแรกโดยเฉพาะเด็กเล็ก พ่อแม่ยังคงต้องคอยวางแผน คอยกำกับดูแลอย่างเป็นธรรมชาติ ให้เด็กรู้สึกสนุกสนานท้าทาย และ คอยสนับสนุนให้กำลังใจ
 

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และรูปภาพจากเว็บไซต์
taamkru.com